วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

การเรียนการสอนแบบต่อภาพ (Jigsaw Method)

การเรียนการสอนแบบต่อภาพ
(Jigsaw Method)


“เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ได้จากการร่วมมือกันเรียนรู้ส่วนย่อยขององค์ความรู้ แล้วนำกลับมาต่อภาพกัน เป็นองค์ความรู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ได้”


การเรียนแบบต่อภาพเป็นเทคนิคหนึ่งของการเรียนแบบร่วมมือที่ใช้มโนทัศน์ของการต่อภาพ (Jigsaw) มาเป็นแนวของการสร้างรูปแบบการเรียน ผู้ที่พัฒนาและทดสอบจนได้รับเป็นรูปแบบที่ยึดเป็นแนวปฏิบัติ คือ เอรอนสัน และคณะ (Elliot Aronson and others, 1978) มหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งต่อมาสลาวีนและคณาจารย์จอร์นฮอฟกินส์ ได้นำมาพัฒนาต่อใหม่เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการนำไปปฏิบัติการเรียนการสอน เกิดเป็นการเรียนแบบต่อภาพ 2 (Jigsaw II) ส่วนการเรียนต่อภาพแบบแรกเป็นการเรียนต่อภาพแบบ 1 (Jigsaw I) พ.ศ.2545 ผู้เขียนได้นำรูปแบบการเรียนต่อภาพมาประยุกต์ใช้ในการสอนระดับอนุบาลศึกษา โดยให้นิสิตปริญญาโททำวิจัยในสาขาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียกว่าการเรียนแบบต่อภาพ หรือ Jigsaw Method

แนวคิดพื้นฐาน
การเรียนแบบต่อภาพเป็นวิธีการเรียนที่มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเล่นต่อภาพ ซึ่งแทนที่เด็กจะเล่นคนเดียวเปลี่ยนมาเล่นเป็นกลุ่มต่อภาพความรู้ เด็กต่างรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะเรียนรู้ภาพย่อยสู่ภาพใหญ่ ใช้เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียนแบบร่วมมือสำหรับชั้นอนุบาลศึกษา ครูสามารถนำไปใช้กับการสอนเพื่อการเรียนรู้ด้านต่างๆ สิ่งที่ได้จากการเรียนการสอนแบบนี้คือเด็กได้คิด ได้เรียนรู้ด้วยกัน และฝึกความสามารถในการสังเกต การสืบค้น การสรุปความและความรับผิดชอบต่างๆ
การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative learning) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจากกลุ่มขนาด 4-6 คน ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยกันคิด ศึกษา ค้นคว้าพร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ในสิ่งที่กลุ่มต้องการ การเรียนแบบร่วมมือนี้เกิดขึ้นประมาณ ค.ศ.1920 โดยโรเบิร์ต สลาวีน (Robert Slavin) เป็นผู้ริเริ่มด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนแบบร่วมกันเรียนเป็นกลุ่มเป็นคณะ ไม่แข่งขันกัน ความสำคัญของการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับกลุ่ม สมาชิกของกลุ่มจะมีความหลากหลาย ใช้ปฏิสัมพันธ์ และการสนทนาเป็นแกนของการเรียนรู้ร่วมกัน
ลักษณะของการเรียนแบบร่วมมือเป็นการเรียนด้วยการพึ่งพากัน การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในกลุ่มและการทำงานร่วมกันด้วยกระบวนการกลุ่ม ที่สำคัญเด็กเล็กชอบเรียนรู้จากเพื่อนมากกว่าเรียนคนเดียว การได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนได้พูดได้ฟังแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี (Elaison and Jenkins 1994 : 23) มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบโดยใช้รูปแบบกิจกรรมการเรียนหลากหลายเช่น STAD (Student Teams Achievement Divisions) ซึ่งใช้ผู้เรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่างๆ กันมาช่วยกันพัฒนาความรู้ให้แก่ทีม หรือ TGT (Team – Games – Tournaments) และ Group – Investigation เป็นต้น ซึ่งการเรียนแบบต่อภาพ (Jigsaw Model) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ

การเรียนการสอน
การเรียนแบบต่อภาพเป็นเทคนิคของการเรียนแบบร่วมมืออย่างหนึ่งที่มีการเรียนเป็นกลุ่มย่อย โดยสมาชิกในกลุ่มหรือทีมจะมีหน้าที่รับผิดชอบ ศึกษาและเรียนรู้ในส่วนที่ต้องเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เนื้อหาย่อยในแต่ละส่วนให้ชัดเจน แล้วนำสิ่งที่ตนเรียนรู้นั้นกลับไปสอนให้แก่สมาชิกในกลุ่มเดิมได้รับทราบ เพื่อให้กลุ่มได้เกิดความรู้ทั้งหมดอย่างครอบคลุมตามหัวเรื่อง (topic) ที่ครูกำหนดให้เรียน
กลุ่มการเรียนแบบต่อภาพแต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มไม่เกิน 6 คน มาร่วมกันศึกษาสาระวิชา 1 เรื่องที่ครูกำหนด โดยครูจะตัดเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มรับมอบหมายไปศึกษาค้นคว้าหรืออ่าน เพื่อสร้างความเข้าใจเนื้อหาส่วนที่ตนได้รับมอบหมายกับสมาชิกของกลุ่มอื่นๆ ซึ่งต่างก็ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน กลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะร่วมกันอภิปรายและศึกษาเนื้อหาสาระย่อยที่ได้รับมอบหมายให้เข้าใจ จากนั้นแต่ละคนจะกลับไปกลุ่มเดิม เพื่อขยายความรู้ที่ได้มาให้กลุ่มเดิมโดยสมาชิกของกลุ่มจะตั้งใจรับฟังข้อความรู้จากกันและกัน (Burden and Byrd, 1994 : 98) จากนั้นกลุ่มจะประมวลความรู้ย่อยที่แต่ละคนไปค้นคว้ามาปะติดปะต่อเป็นภาพองค์ความรู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ทั้งหมดที่ต้องการ
ลักษณะการเรียนแบบต่อภาพเป็นวิธีการเรียนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรับผิดชอบ มีความตั้งใจศึกษาสาระที่กลุ่มมอบหมายอย่างตั้งใจด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยมีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้ส่วนย่อยมาสู่กลุ่มเพื่อนตามที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มใหญ่ให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด วิธีการค้นหาความรู้ย่อยคือการไปเสาะแสวงหาความรู้จากเอกสาร สื่อ ภาพ หรือเอกสาร งานวิจัย หรือหนังสือร่วมกับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มแต่ละคนเช่นกัน เพื่อสร้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาที่ได้รับมอบหมายมา จากนั้นนำความรู้ที่ได้ไปสอนให้แก่เพื่อนในกลุ่มเดิมของตน เราใช้คำเรียกกลุ่มเดิมก่อนมอบหมายงานว่า กลุ่มเหย้า (Home group) ส่วนผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาเนื้อหาย่อยเรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะไปรวมกลุ่มกันใหม่กับสมาชิกผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มอื่นร่วมกันศึกษาเรื่องเดียวกันที่ได้รับมอบหมายมา จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเชี่ยวชาญ (expert group)
การศึกษาความรู้ของกลุ่มเชี่ยวชาญอาจทำได้หลายกรณีขึ้นอยู่กับงานที่ผู้เรียนได้รับมอบหมายและความยากง่ายของงาน ผู้เรียนอาจไม่อ่านหรือไปค้นหรือไปสัมภาษณ์จากผู้รู้หรือไปศึกษาจากของจริงได้ ลักษณะและกลไกการเรียนของกลุ่มเหย้าและกลุ่มเชี่ยวชาญจะเป็นดังรูป




รูป ลักษณะกลุ่มและกลไกการเรียนแบบต่อภาพ

ลักษณะการเรียนแบบต่อภาพตามรูป เป็นภาพการเรียนที่พัฒนาจากการเรียนแบบต่อภาพ 1 แล้ว กล่าวคือ ในการจัดการเรียนแบบต่อภาพ 1 จะเน้นภารกิจของครูในการจัดเตรียมทั้งสื่อการสอน อุปกรณ์ การเตรียมผู้สอนเพื่อการเรียนรู้เป็นกลุ่มให้พร้อม ส่วนการเรียนแบบต่อภาพ 2 หลักการสำคัญที่เหมือนกันคือสมาชิกกลุ่ม แต่ละคนต้องรับผิดชอบทำความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่รับผิดชอบจากสื่อหรืออุปกรณ์การเรียนรู้ แล้วนำข้อความรู้ที่ได้ไปสอนให้แก่สมาชิกของกลุ่มตน (Arends, 197 : 120)


หลักการสอน
การเรียนแบบต่อภาพเป็นการเรียนแบบร่วมมือในหัวข้อเรื่องเดียวกันที่ช่วยกันเรียน ช่วยกันค้นในหัวข้อย่อย แล้วนำกลับไปสอนกันในกลุ่มเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องของกลุ่ม (Arends, 1994 : 346-347) การเรียนรู้โดยวิธีต่อภาพนี้เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องศึกษาด้วยตนเองเป็นสำคัญ นอกจากนี้ต้องสามารถในการสอน อธิบายหรือนำเสนอให้แก่กลุ่มเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับเด็กปฐมวัยพบว่ามีเงื่อนไขสำคัญคือเด็กปฐมวัยอ่านหนังสือไม่เป็น คิดแบบนามธรรมไม่ได้ เมื่อต้องการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบต่อภาพ ครูต้องเป็นผู้ทำหน้าที่กระตุ้น แนะแนวการศึกษาอย่างใกล้ชิดทั้งกลุ่มเหย้าและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ สื่อจะเน้นใช้ภาพของจริง วัสดุต่างๆ ภาพยนตร์หรือวีดีทัศน์ที่เด็กสามารถสัมผัสและเรียนรู้ได้โดยง่าย ประโยชน์ที่เด็กจะได้จากการใช้การเรียนแบบต่อภาพคือ
1. ฝึกเรียนรู้การสืบค้นและการค้นคว้า
2. ฝึกความรับผิดชอบ
3. ฝึกการสื่อสาร เพราะต้องสนทนากับกลุ่ม นำข้อมูลที่ศึกษามาสอนและบอกเล่าให้กลุ่มฟัง
4. ฝึกการร่วมมือกันทำงาน
5. ฝึกการพัฒนาความคิดรวบยอด หรือสร้างมโนทัศน์ในเรื่องที่เรียน
6. ฝึกการฟัง
7. ฝึกการถ่ายและเชื่อมโยงความรู้
8. ฝึกการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


วิธีจัดการเรียนการสอน
รูปแบบการเรียนแบบต่อภาพยังไม่มีการนำมาใช้ในระดับอนุบาลอย่างชัดเจน ซึ่งหากครูจะนำมาใช้กับเด็กอนุบาลก็ย่อมทำได้ แต่ปรับกระบวนการให้เหมาะสมเพราะประโยชน์ที่เด็กได้รับจะมีความหลากหลาย โครงการสอนที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นโครงสร้างการสอนตามรูปแบบการเรียนแบบต่อภาพ เป็นแบบที่ 2 (Jigsaw II) ซึ่งประกอบด้วยการวางแผน 10 ขั้นตอน (Eggen and Kauchoak, 1996 : 298-300) คือ กำหนดจุดประสงค์ ออกแบบสื่อการเรียน สร้างกลุ่มผู้เรียน มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ ออกแบบประเมินผล รวบรวมข้อมูล รายงานแก่กลุ่ม ประเมินกระบวนการกลุ่ม ประเมินผู้เชี่ยวชาญและประเมินความเข้าใจในเนื้อหา

กำหนดจุดประสงค์ ให้ครูกำหนดจุดประสงค์การเรียนให้ชัดเจนว่า ครูต้องการให้เด็กมีความรู้เรื่องอะไร
ตัวอย่างเช่น เด็กจะเรียนเรื่องต้นไม้ จุดประสงค์อาจกำหนดได้ ดังนี้
อนุบาล 1 : เด็กสามารถบอกส่วนประกอบของต้นไม้ได้
อนุบาล 2 : เด็กสามารถจำแนกลักษณะของใบไม้ตามรูปร่างและสีได้
อนุบาล 3 : เด็กบอกประโยชน์ของต้นไม้ได้

ออกแบบสื่อการเรียน การออกแบบสื่อการเรียนเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับครู กล่าวคือ ครูต้องแตกหัวข้อเรื่องใหญ่ให้เป็นหัวข้อย่อย โดยใช้ผังมโนทัศน์ (Concept mapping) ในการจำแนกหัวข้อเรื่อง แต่ถ้ามีแบบเรียนก็สามารถใช้ได้เลย แล้วมาจัดทำเป็นเอกสารการเรียนหรือถ้าครูจะใช้วีดิทัศน์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ครูจะใช้สื่อการเรียนใดต้องให้สอดคล้องกับวัยเด็กและความสามารถในการรับรู้ของเด็กด้วย
สำหรับเด็กอนุบาล ครูต้องใช้สื่อที่เป็นของจริง โดยให้เด็กเลือกค้นแล้วมาสรุปผล ตัวอย่างเช่น ชั้นอนุบาล 1 ต้องเรียนรู้ส่วนประกอบของต้นไม้ ครูสามารถจำแนกหัวข้อย่อยเป็นใบไม้ ลำต้น ราก ดอก ผล แต่ละหัวข้อย่อยจะหมายถึงแต่ละกลุ่มผู้เชี่ยวชาญศึกษาแล้วให้เด็กกลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยกันคิดค้นหา เพื่อให้ได้ใบไม้กลับไปกลุ่มเหย้าคนละ 1 ใบ ใบไม้ที่เลือกไม่ควรเหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รู้จัก ช่วยกันคิด การจำแนก การค้นคว้าตามหลักการของการเรียนแบบต่อภาพ ผู้เรียนเห็นความสำคัญของข้อความรู้ที่ต้องเรียนร่วมกันและช่วยเหลือในการเรียนอย่างจริงจัง สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่น ผลไม้ ราก ลำต้น และผล จะจัดอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกัน

การจัดกลุ่มผู้เรียน
ให้จัดกลุ่มผู้เรียนมีจำนวนเท่ากับหัวข้อย่อยที่จะเรียน เช่น อนุบาล 1 เรียนส่วนประกอบของต้นไม้ 5 เรื่อง คือ ใบไม้ ลำต้น ราก ดอก ผล ดังนั้นกลุ่มเหย้าจะมีจำนวน 5 คนต่อ 1 กลุ่มเป็นอย่างน้อย เพื่อมอบหมายให้ไปศึกษาคนละเรื่อง ข้อสำคัญการแบ่งกลุ่มเด็กควรเป็นกลุ่มเด็กคละ ทั้งเรียนเก่งไม่เก่ง ทั้งเด็กหญิงชาย เด็กจะได้เรียนรู้เพื่อช่วยกันและกันในกลุ่มด้านการเรียนด้วย ในกรณีที่มีเด็กเกินจำนวน 1-2 คน ครูอาจมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนเรียนรู้ต่อเนื่องได้

การมอบหมายงาน
เมื่อจัดกลุ่มการเรียนเป็นกลุ่มเหย้าเรียบร้อยแล้ว ให้ครูบอกจุดประสงค์ หัวข้อเรื่องที่เด็กต้องเรียน และวิธีปฏิบัติเพื่อหาคำตอบที่ต้องการ เมื่อเด็กเข้าใจแล้วให้ครูบอกหัวข้อย่อยที่ผู้เชี่ยวชาญต้องไปศึกษา จากนั้นครูให้กลุ่มเหย้ามอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มรับผิดชอบหัวข้อย่อยที่ตนสนใจศึกษา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญต้องทราบจุดประสงค์และแนวการศึกษาค้นคว้างานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเรียนรู้แล้วให้นำมาบอกหรือสอนให้คนในกลุ่มเหย้าเข้าใจ

การศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อเด็กทราบว่าต้องทำอะไรแล้ว ให้เด็กที่กำหนดเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหมายถึงเด็กที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มไปเข้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญอื่น เพื่อศึกษาข้อมูลหรือปฏิบัติการศึกษาตามลักษณะของกลุ่มตามจุดประสงค์การเรียน เมื่อเสร็จแล้วให้กลับไปยังกลุ่มเหย้า

การเสนอผลให้แก่กลุ่มเหย้า
เด็กแต่ละคนกลับจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาสู้กลุ่มเดิม พร้อมกับข้อมูลที่ได้รับให้ไปศึกษา หรือสิ่งของที่ต้องการกลับมาให้แก่กลุ่ม เช่น เด็กอนุบาล 1 ได้รับมอบหมายให้ไปนำใบไม้ ผลไม้ จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไปศึกษามาว่าสีอะไรเป็นอย่างไร เมื่อได้แล้วให้กลับกลุ่มเหย้า เมื่อกลับถึงกลุ่มเหย้า ผู้เชี่ยวชาญต้องบอกแก่กลุ่มว่าได้อะไรแล้วนำมาเสนอให้แก่กลุ่ม เพื่อช่วยกันประกอบเป็นต้นไม้ ดังรูป


การประเมินผล
การประเมินผลการเรียนการสอบแบบต่อภาพเป็นการประเมินเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อวินิจฉัยเด็กว่าเข้าใจส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างไร และประเมินผลงานรวมของกลุ่มเหย้าในการประเมินภาพความรู้ความเข้าใจ เด็กอนุบาลในการเรียนแบบต่อภาพนี้ ประกอบด้วย การประเมิน 3 ด้าน คือ 1) ประเมินกระบวนการกลุ่ม เป็นการประเมินว่าเด็กสนใจงานที่รับผิดชอบอย่างไร เข้ากับเพื่อนได้ไหม ช่วยเหลือกันอย่างไร 2) ประเมินพัฒนาการความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ความสามารถในฐานะตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ความสามารถในการมาบอกและอธิบายให้แก่กลุ่ม และ 3) ประเมินความเข้าใจสาระวิชาในส่วนที่รับผิดชอบ (Eggen and Kauchock, 1996 : 300) สำหรับเด็กเล็ก เช่น อนุบาล 1 ต้องปรับให้เหมาะกับความเข้าใจของเด็ก เช่น เด็กบอกได้ว่าใบไม้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของต้นไม้ เป็นต้น


สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้
การเรียนแบบต่อภาพเป็นการเรียนที่เด็กต้องทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ ควรมีการเคลื่อนย้ายได้สะดวก และการจัดเตรียมอุปกรณ์ต้องให้พร้อมใช้ ส่วนมุมต่างๆ ยังคงอยู่ เพื่อให้เด็กได้ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ หลังเรียนแล้ว


บทบาทครู
ครูมีหน้าที่สำคัญในการวางแผนการสอนและออกแบบกิจกรรม โดยเฉพาะการตัดเนื้อหาให้เป็นองค์ประกอบย่อยของภาพ การใช้ผังมโนทัศน์ (Concept mapping) จะช่วยให้ครูตัดเนื้อหาย่อยเพื่อจัดทำกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ครูต้องการสอนเรื่องรสผลไม้ ครูต้องแจกหัวข้อย่อยออกให้เท่ากับจำนวนกลุ่มที่ครูต้องการ ดังรูป ครูจะแจกแจงได้ถึง 5 รส จากจำนวน 5 รสนี้ครูสามารถแบ่งกลุ่มผู้เรียนได้ 5 กลุ่มย่อย ซึ่งแสดงว่ากลุ่มเหย้าจะมี 5 คน เป็นต้น



รูป การทำผังมโนทัศน์เนื้อหา

บทบาทครู
ในการเรียนการสอนแบบต่อภาพ สำหรับการศึกษาอนุบาล ครูมีบทบาทสำคัญดังนี้
1. ครูเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและสร้างภาพตัดต่อ
2. ครูเป็นผู้อำนวยการทำงานกลุ่มให้เป็นไปโดยคล่องตัว ด้วยการจัดเตรียมการสื่อการสอน อุปกรณ์ และกระบวนการแบ่งกลุ่ม
3. ครูเป็นผู้นิเทศและให้คำชี้แนะในการหาภาพมาต่อให้ชัดเจน
4. ครูเป็นผู้ประเมินผลและพัฒนากิจกรรมภาพต่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด


การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
การสอนแบบต่อภาพเป็นการเรียนที่เบ็ดเสร็จในชั้นเรียน แต่มีการออกแบบภาพต่อบางอย่าง อาจให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดหาอุปกรณ์ที่มอบหมายหรือหาคำตอบโดยการให้ผู้ปกครองเป็นแหล่งวิทยากรได้ อีกส่วนหนึ่งคือการให้ผู้ปกครองรับรู้ความก้าวหน้าของผู้เรียน


การนำไปใช้
วิธีการเรียนการสอนแบบต่อภาพเหมาะสำหรับการสอนเด็กโต แต่สามารถนำมาปรับใช้กับเด็กเล็กได้เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการสืบค้นข้อความรู้ร่วมกับกลุ่ม ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการแบ่งปันความคิดและการทำงานเป็นทีม สำหรับเด็กเล็กมากจะมีข้อจำกัดทางภาษา การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อนำไปใช้กับอนุบาล 1 (อายุ 3-4 ขวบ) ค่อนข้างมีปัญหาแต่ครูสามารถทำได้เพียงแต่ให้ร่วมกันค้นมากกว่าการศึกษา ส่วนอนุบาล 2-3 (อายุ 4-6 ขวบ) จะค่อนข้างจัดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นอนุบาลระดับใดก็ตาม ครูต้องปรับสื่อการเรียนให้เหมาะสมกับวัยโดยเน้นการเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วมมากที่สุด


อ้างอิงจาก : ผศ. ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะ.รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัยศึกษา.-กรุงเทพ:เบรน-เบส บุ๊ค. 2551. 224 หน้า. หน้า 166 - 175

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น